ประวัติความเป็นมาโรงเรียนราชินีบน

โรงเรียนราชินีบน เดิมชื่อ โรงเรียนศรีจิตรสง่า ตั้งอยู่ที่ตึกแถวถนนอัษฎางค์ หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงก่อตั้งขึ้นจากทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เปิดทำการสอนวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ โดยเปิดสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนถึงมัธยมปีที่ ๓ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ โรงเรียนนี้ได้ย้ายมาเปิดสอนที่ตึกของ พระยามหิบาล ถนนสามเสน ใกล้โรงไฟฟ้าสามเสน เมื่อตั้งได้ ๓ ปี จึงขยายการสอนสูงขึ้นจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖

rajinibon
rajinibon

ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธรทรงบริจาคทุนทรัพย์โปรดให้จัดซื้อที่ของพระยามหิบาลกับขอพระราชทานที่ของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ริมถนนเขียวไข่กา ทั้งสองฝั่งมาสมทบ รวมมีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๔๓ ตารางวาและโปรดให้สร้างอาคารที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นในที่ดินด้านทิศใต้ของถนนเขียวไข่กา โดยมีพระราชประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความกตัญญูกตเวทีแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยทรงพระราชดำริจะส่งเสริมการศึกษาแก่สตรี

เริ่มแต่พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนกุลสตรีทั่วไปและเพื่อให้นักเรียนมัธยม ๗-๘ ของโรงเรียนราชินีซึ่งจะสำเร็จการศึกษา ได้คุ้นเคยกับสถานที่ซึ่งถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล จึงโปรดให้ย้ายนักเรียนที่จบชั้นมัธยมปีที่ ๖ สายวิทยาศาสตร์ มาเรียนที่โรงเรียนนี้สมทบกับนักเรียนที่มีอยู่เดิมและได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่นี้ว่า “โรงเรียนราชินีบน” เปิดทำการสอน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๗๒ ตั้งแต่ระดับมัธยม ๓-๘

เมื่อแรกเปิด หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่ หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ทรงเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ มีครูสอนประจำ ๙ คน ครูพิเศษชาย ๖ คน และครูโรงเรียนราชินีมาสอนเป็นบางวัน ๓ คน แรกเปิดโรงเรียน มีนักเรียน ๖๓ คน และเข้าใหม่อีก ๑๒ คน รวมมีนักเรียน ๗๕ คน ตึกเรียนหลังแรกเป็นตึกเรียนสีครีม ปีกหนึ่งเป็น ๒ ชั้น อีกปีกหนึ่งเป็นชั้นเดียว ชั้นบนสำหรับนักเรียนประจำ ชั้นล่างเป็นห้องเรียน (ปัจจุบัน คือ อาคารพิจิตรจิราภา)

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ยกเลิกชั้นเรียนมัธยมปีที่ ๓ ทำการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยม ๔ - มัธยม ๘

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่โรงเรียนราชินีบนแทน หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับใหม่ ที่ไม่อนุญาตให้บุคคลคนเดียว เป็นครูใหญ่ สองแห่ง หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการของโรงเรียน

วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร องค์อุปถัมภ์ของโรงเรียนสิ้นพระชนม์

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ยกเลิกชั้นมัธยม ๗-๘ เปิดรับชั้นมัธยม ๑-๓ และมัธยม ๖ พิเศษ

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง “ราชินีมูลนิธิ” ขึ้น มีหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงเป็นประธานกรรมการและมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๘ ท่าน

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๖ หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล สิ้นชีพิตักษัย หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล จึงทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการและอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน หม่อมเจ้าสมรศรีโสภา เทวกุล ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ และในปีนี้นั้นโรงเรียนได้รับใบรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๗ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงเรียนได้อพยพไปเปิดสอนที่วัดชีโพน อำเภอ ผักไห่ จังหวัดอยุธยา ร่วมกันกับโรงเรียนราชินีเป็นเวลา ๑ ปี จึงย้ายกลับมาเปิดสอนที่โรงเรียนตามเดิม

ในปีเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกภาษาและวิทยาศาสตร์ และเปิดชั้นประถม ๑-๔ อย่างละห้อง

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ เปิดตึกเรียน ๓ ชั้น สำหรับประถมและมัธยมต้น

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ เปิดตึกนอนนักเรียนประจำ ๓ ชั้น

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด หอประชุมวไลยอลงกรณ์

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ สร้างตึกเรียน ๔ ชั้น (ชั้น ๕ เป็นดาดฟ้า) เพื่อใช้เป็นห้องเรียนสำหรับประถมปลายและมัธยมต้น

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ สร้างตึกพยาบาล ๓ ชั้น ชั้นบนเป็นห้องเรียนดนตรีไทย

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ สร้างตึกวิทยาศาสตร์ ๓ ชั้น ชั้นล่างเป็นที่รับประทานอาหาร และชั้นบนสุดจัดเป็น ห้องพลศึกษา

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ หม่อมเจ้าสมรศรีโสภา เทวกุล ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนราชินีบนแทน หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ซึ่งประชวร นางเสนะจิตร สุวรรณโพธิศรี ได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่

ปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ นางสนอง ปิ่นกุลบุตรได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนนางเสนาะจิตร สุวรรณโพธิศรี ซึ่งย้ายไปรักษาการครูใหญ่โรงเรียนราชินีแทนหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล เนื่องจากทรงชรา ไม่สามารถบริหารงานได้

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ เปิดตึก ๔ ชั้น ชั้นบนเป็นโรงยิม ชั้นล่างเป็นห้องโภชนาการ และที่รับประทานอาหารนักเรียนชั้นมัธยมปลาย

อาคารทุกอาคารที่กล่าวข้างต้น สร้างบนที่ดินด้านทิศใต้ของถนนเขียวไข่กา

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ หม่อมราชวงศ์ทิพยางค์ กาญจนดุล ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการทำหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต และดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ จนปัจจุบัน

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ นางสนอง ปิ่นกุลบุตร เกษียณอายุ นางใจรัก ดวงพลอย ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษาขนาดกลาง

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ เปิดกลุ่มอาคารฝั่งเหนือถนนเขียวไข่กา ประกอบด้วยอาคารวงศ์ทิพย์สุดา (ซึ่งเป็นสถานที่เรียนสำหรับนักเรียนอนุบาล และเป็นที่พักนักเรียนประจำ) สระว่ายน้ำสมรศรีโสภา โรงยิม ๓ ชั้นล่างเป็นที่จอดรถและอาคารสโมสร

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ เปิดตึกอเนกประสงค์ ๓ ชั้น (สร้างบนที่ดินด้านทิศใต้ของถนนเขียวไข่กา)

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ นางใจรัก ดวงพลอย เกษียณอายุ นางสาวสุกัญญา จันทรเสน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทนจนถึงพุทธศักราช ๒๕๕๗ และมีการเปลี่ยนตำแหน่งครูใหญ่เป็นผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน พุทธศักราช ๒๕๕๐

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ โรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๓ ถึงปีการศึกษา ๒๕๔๗

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ โรงเรียนได้รับการตรวจเยี่ยม และประเมินคุณภาพการศึกษา จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) รอบที่ ๑

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ โรงเรียนได้รับการประเมินคุณภาพการศึกษา และการรับรองมาตรฐานการศึกษา จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) รอบที่ ๒

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ เปิดอาคารสิริภูมิ ริมถนนสามเสนแนวเดียวกับโรงเรียน ห่างกันประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นที่พักนักเรียนประจำ

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ โรงเรียนได้รับการประเมินคุณภาพการศึกษา และการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) รอบที่ ๓

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ นางสาวสุกัญญา จันทรเสน รองผู้จัดการ และนางสาวเย็นฤทัย จงถนอม ผู้อำนวยการ

ในปีเดียวกัน เปิดอาคาร ๘๔ ปีราชินีบน เป็นอาคารเรียนติดกับอาคารสิริภูมิตั้งอยู่บริเวณถนนสามเสน

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ นางสาวสุกัญญา จันทรเสน ได้รับแต่งตั้งจากราชินีมูลนิธิให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนราชินีบนและทำหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต

วันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ หม่อมราชวงศ์ทิพยางค์ กาญจนดุล ถึงแก่อนิจกรรม นางสาวสุกัญญา จันทรเสน ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนต่อเนื่องตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน โดยมีนางสาวเย็นฤทัย จงถนอม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

ปัจจุบันโรงเรียนราชินีบนมีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๓ งาน ๗๔ ตารางวา เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ ๒ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โดยใช้หลักสูตรกุลสตรีราชินีบน ระดับการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช ๒๕๕๙ และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนราชินีบน พุทธศักราช ๒๕๕๖ ชื่อว่า หลักสูตรกุลสตรีราชินีบน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับปรับปรุง ปีพุทธศักราช ๒๕๖๑